Description
|
บทคัดย่อ
การศึกษาการใช้เชื้อราบิวเวอเรียและเชื้อราเมตาไรเซี่ยมในการควบคุมแมลงศัตรูผักกาด ที่ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านการอารักขาพืช จังหวัดนครราชสีมา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระยะเวลาที่เหมาะสมในการใช้เชื้อราและเชื้อราเมตาไรเซี่ยมในการความคุมแมลงศัตรูผักกาด ดำเนินการทดลองเรียนรู้ภายในศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านการอารักขาพืช จังหวัดนครราชสีมา วางแผนแบบ CRD มี 4 กรรมวิธี ๆละ 4 ซ้ำ ๆละ 20 ต้น ทั้งหมด 16 แปลง กรรมวิธีที่ 1 ไม่มีการฉีดพ่น กรรมวิธีที่ 2 ฉีดพ่นเชื้อราบิวเวอเรียทุก 5 วัน กรรมวิธีที่ 3 ฉีดพ่นเชื้อราเมตาไรเซี่ยมทุก 5 วัน กรรมวิธีที่ 4 ฉีดพ่น เชื้อราบิวเวอเรีย+เชื้อราเมตาไรเซี่ยมทุก 5 วัน โดยฉีดพ่นเชื้อราบิวเวอเรียอัตรา 200 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นเชื้อราเมตาไรเซี่ยมอัตรา 200 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นบิวเวอเรียกับเชื้อราเมตาไรเซี่ยม 200 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ในทุกกรรมวิธี
ผลการศึกษา พบว่า การฉีดพ่นเชื้อราเมตาไรเซี่ยม ผักกาดขาวมีความสูงมากที่สุด (17.56) รองลงมา การฉีดพ่นเชื้อราบิวเวอเรียและเมตาไรเซี่ยม (15.27), การฉีดพ่นเชื้อราบิวเวอเรีย (13.71) และ ไม่มีการฉีดพ่น (11.78) จำนวนใบ พบว่า การฉีดพ่นเชื้อราบิวเวอเรียและเมตาไรเซี่ยม ผักกาดขาวมีความเฉลี่ยจำนวนใบสูงที่สุด 11.05 ใบ รองลงมาการฉีดพ่นเชื้อราเมตาไรเซี่ยม ความเฉลี่ยจำนวนใบที่ 10.37 ใบ , การฉีดพ่นเชื้อราบิวเวอเรีย ความเฉลี่ยจำนวนใบที่ 10.05 ใบ และ ไม่มีการฉีดพ่น มีจำนวนใบความเฉลี่ยน้อยที่สุด 9.43 ใบ น้ำหนักสดของผักกาดขาว พบว่า ไม่มีการฉีดพ่น มีน้ำหนักเฉลี่ยสูงที่สุด 235.75 กรัม รองลงมา เชื้อราเมตาไรเซี่ยม มีค่าเฉลี่ยที่ 172.6 กรัม , การฉีดพ่นเชื้อราบิวเวอเรีย มีค่าเฉลี่ยน้ำหนักสด 156.3 กรัม และการฉีดพ่นเชื้อราบิวเวอเรียและเมตาไรเซี่ยม มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดที่ 150.40 กรัม ร่องรอยการเข้าทำลาย พบว่า จำนวนต้นที่แมลงเข้าทำลายบนต้นผักกาดขาวน้อยที่สุด คือ การฉีดพ่นเชื้อราบิวเวอเรียและเชื้อราเมตาไรเซี่ยม ค่าเฉลี่ย 0.82 รองลงมา การฉีดพ่น เชื้อราบิวเวอเรีย ค่าเฉลี่ย 5.05 , การฉีดพ่นเชื้อราเมตาไรเซี่ยม ค่าเฉลี่ย 5.08 และไม่มีการฉีดพ่น ค่าเฉลี่ย 6.80 จำนวนแมลง พบว่า การฉีดพ่นเชื้อราบิวเวอเรียพบจำนวนแมลงน้อยที่สุด (0.50) รองลงมา คือ การฉีดพ่นเชื้อราเมตาไรเซี่ยม (0.80) , การฉีดพ่นเชื้อราบิวเวอเรียและเชื้อราเมตาไรเซี่ยม (0.82) และ ไม่มีการฉีดพ่น (1.28) ทั้งนี้ ควรศึกษากับพืชกลุ่มอื่น เพื่อขยายผลการทดลองให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยเปรียบเทียบ กับเชื้อราชนิดอื่น ๆ ที่สามารถควบคุมโรคแมลงได้ ควรเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวตามอายุพืชตามหลักวิชาการ ควรสำรวจค่าความเป็นกรด-ด่างของดิน และทำการปรับปรุงดินให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช |